อย คืออะไร สำคัญอย่างไร

อย. คืออะไร รู้จักเครื่องหมายอย. ทำไมถึงมีความสำคัญ

อาหาร เครื่องดื่ม ยาหรือสิ่งของที่เราใช้ เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าสิ่งเหล่านั้นปลอดภัยไม่เป็นอันตรายต่อตัวเรา คำตอบคือเราต้องพิจารณาว่าของสิ่งนั้นมีมาตรฐานไหม โดยสังเกตจากเครื่องหมายบนผลิตภัณฑ์ว่ามีเครื่องหมายอย.หรือไม่ ว่าแต่เครื่องหมายอย. คืออะไร ความหมายหรือ หน้าตาเป็นแบบไหน รวมถึงวิธีการเช็กเลขอย. ว่าจริงหรือปลอมทำอย่างไร เรามาทำความรู้จักทั้งหมดนี้ผ่านบทความนี้กัน

อย. คืออะไร

อย. คืออักษรย่อของ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration) ที่เป็นหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทย ทำหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภค ตรวจสอบ ดูแลผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลต่อร่างกายและสุขภาพ โดยผลิตภัณฑ์ที่อย. คุ้มครองผู้บริโภคได้แก่ อาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ และ วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน

อย คือเครื่องหมายอะไร

อย คืออะไร

เครื่องหมายอย. เป็นเครื่องหมายที่บ่งบอกว่าผลิตภัณฑ์นั้นได้รับการขึ้นทะเบียน โดยผ่านการพิจารณาตรงตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยพิจารณาในด้านของคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัย เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นไม่เป็นอันตรายต่อการใช้งานหรือเป็นอันตรายต่อการบริโภคนั่นเอง

อย. มีหน้าที่อะไรบ้าง

อย. หรือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องและคุ้มครองสุขภาพของประชาชนจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมถึงมีส่วนช่วยในการให้ข้อมูลวิชาการที่น่าเชื่อถือ เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคที่ถูกต้อง อีกทั้งเพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยและได้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์นั้น ๆ โดยมีอำนาจหน้าที่ดังนี้

  1. ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้านอาหาร ยา เครื่องสำอาง วัตถุอันตราย วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ยาเสพติดให้โทษ เครื่องมือแพทย์ การป้องกันการใช้สารระเหย และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
  2. พัฒนาระบบและกลไก ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของอย.
  3. กำกับ ดูแล เฝ้าระวัง และตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์  สถานประกอบการ รวมถึงการโฆษณา และผลของผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามความจริง อีกทั้งมีการติดตาม เฝ้าระวังข้อมูลข่าวสารของผลิตภัณฑ์สุขภาพจากทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ
  4. วิเคราะห์ วิจัย ศึกษา และพัฒนาองค์ความรู้ ด้านเทคโนโลยี และระบบงานคุ้มครองผู้บริโภคในด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด
  5. ส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีศักยภาพในการเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย ถูกต้องเหมาะสม และคุ้มค่า รวมถึงให้ผู้บริโภคนั้นมีการร้องเรียนเพื่อปกป้องสิทธิของตนเองได้
  6. พัฒนาและส่งเสริมการดำเนินงานในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน การปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนและเครือข่ายประชาคมสุขภาพ
  7. พัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อให้งานคุ้มครองประชาชนเกิดประโยชน์ต่อสุขภาพประชาชนและผลประโยชน์ของประเทศชาติ
  8. ปฏิบัติการอื่น ๆ ตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานหรือตามที่รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

อย. รับรองสินค้าอะไรบ้าง

อย รองรับสินค้าอะไร

อย.มีหน้าที่ในการกำกับดูแล ควบคุม กำหนดมาตรฐานความปลอดภัย ตรวจสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ จำแนกและจัดประเภทสินค้าหรือสารเคมีทั้งก่อนและหลังจำหน่าย อนุญาตและเพิกถอนทะเบียนสินค้า รวมถึงควบคุมการโฆษณาสินค้าที่สรรพคุณเกินจริง โดยประเภทสินค้าที่อยู่ในการรับรองของอย. ได้แก่

  • อาหาร โดยมีหน้าที่ตั้งมาตรฐาน ความปลอดภัยรวมถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหาร
  • ยา โดยเป็นยาทั้งสำหรับคน หรือสำหรับสัตว์ รวมถึงวัคซีนและสารเคมีที่ใช้ในทางการแพทย์
  • เครื่องสำอาง ตรวจสอบส่วนประกอบที่เป็นอันตราย โดยสารบางชนิดที่อาจจะส่งผลเสียเมื่อมีปริมาณมาก เช่น สารปรอท สเตียรอยด์เป็นต้น
  • สารเสพติด โดยอย. มีหน้าที่ในการจัดประเภท ทำการอนุญาต และควบคุมผลิตภัณฑ์ที่มีสารเสพติดประกอบ
  • สารเคมีอันตราย อย่างยาฆ่าแมลง สารเคมีทางการเกษตร และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด
  • เครื่องมือทางการแพทย์ เช่น ปรอทวัดไข้ หน้ากากอนามัย เข็มฉีดยา หรือเครื่องวัดความดัน

ผลิตภัณฑ์อะไรบ้างที่ต้องมีเครื่องหมาย อย.

การมีเครื่องหมายอย. รับรองหรือติดอยู่บนฉลากผลิตภัณฑ์ถือเป็นการการันตีว่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้นมีคุณภาพ ได้มาตรฐานและความปลอดภัย และผู้บริโภคหรือผู้ใช้สามารถเชื่อถือและมั่นใจในผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ได้ โดยผลิตภัณฑ์ที่ต้องมีเครื่องหมายอย. มีดังนี้

  1. 1.    ผลิตภัณฑ์อาหาร โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มที่ต้องมีเครื่องหมายอย. ได้แก่
    • a. อาหารควบคุมเฉพาะ เช่น อาหารบรรจุในภาชนะที่ปิดสนิท เครื่องดื่ม
    • b. อาหารที่กำหนดคุณภาพและมาตรฐาน เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร น้ำมันพืช น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุปิดสนิท และอาหารกึ่งสำเร็จรูป
    • c. อาหารที่ต้องมีฉลาก เช่น หมากฝรั่งลูกอม อาหารพร้อมปรุง หรืออาหารกลุ่มสำเร็จรูปพร้อมบริโภคทันที และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ 

โดยเลขอย. ที่อยู่บนผลิตภัณฑ์อาหารจะมีทั้งหมด 13 หลัก หรือที่เรียกว่า เลขสารบบอาหาร โดยวิธีอ่านเลขอย. บนฉลากมีดังนี้

เลข อย 13 หลัก

เลขลำดับที่ 1-2 หมายถึงเลขจังหวัดที่ตั้งของสถานที่ผลิต โดยใช้ตัวเลข 10-96 แทนจังหวัดต่าง ๆ เช่น เลข 10 แทนจังหวัด กรุงเทพฯ

เลขลำดับที่ 3 หมายถึงสถานะของสถานที่และหน่วยงานที่อนุญาต โดยใช้ตัวเลข 1-4 แทนสถานะ

§  หมายเลข 1 หมายถึง สถานที่ผลิตอาหาร ซึ่งอย. เป็นผู้อนุญาต

§  หมายเลข 2 หมายถึง สถานที่ผลิตอาหาร ซึ่งจังหวัดเป็นผู้อนุญาต

§  หมายเลข 3 หมายถึง สถานที่นำเข้าอาหาร ซึ่งอย. เป็นผู้อนุญาต

§  หมายเลข 4 หมายถึง สถานที่นำเข้าอาหาร หรือผลิตภัณฑ์ ซึ่งจังหวัดนั้น ๆ เป็นผู้อนุญาต

 เลขลำดับที่ 4-6 หมายถึงเลขประจำสถานที่ผลิต กำหนดแล้วแต่กรณี โดยใช้เลขสามหลัก เช่น 002 นั้นแสดงถึงแทนเลขของสถานที่ผลิตอาหารหรือสถานที่ที่นำเข้าอาหาร ซึ่งได้รับอนุญาตเป็นลำดับที่ 2

เลขลำดับที่ 7-8 หมายถึงสองเลขท้ายของปี พ.ศ. ที่อนุญาต เช่น เลข 67 แทน ปี พ.ศ. 2567

เลขลำดับที่ 9 หมายถึงหน่วยงานที่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ หรือหน่วยงานที่ออกเลขสารบบอาหารของผลิตภัณฑ์ โดยใช้เลข 1-2 แทนหน่วยงาน

§  หมายเลข 1 หมายถึงอาหารที่ได้รับเลขสารบบอาหารจากอย.

§  หมายเลข 2 หมายถึงอาหารที่ได้รับเลขสารบบอาหารจากจังหวัด

เลขลำดับที่ 10-13 หมายถึงตัวเลขลำดับที่ของผลิตภัณฑ์หลังจากที่ผ่านการอนุญาต โดยใช้ตัวเลขสี่หลักแทนลำดับ เช่น 0002 แทน ลำดับที่ 2 หรือ ตัวเลข 0998 แทนลำดับที่ 998

2. เครื่องมือแพทย์ที่ต้องมีใบอนุญาต เช่น ชุดตรวจเชื้อ HIV คอนแทคเลนส์ ถุงยางอนามัย ถุงมือยางสำหรับศัลยแพทย์ โดยบนฉลากจะมีการแสดงเป็นตัวอักษรคือ ผ. หรือ น. แล้วตามด้วยตัวเลข 7 หลัก ดังรูป

เลขอย เครื่องมือทางการแพทย์

โดยที่ ผ. นั้นหมายถึง การผลิตของผลิตภัณฑ์

น. หมายถึง การนำเข้าของผลิตภัณฑ์

เลขสามตัวแรก หมายถึงเลขที่ของใบอนุญาต

เลขสี่ตัวหลัง หมายถึง ปี พ.ศ. ที่ได้รับอนุญาตจากการจดทะเบียน

ผลิตภัณฑ์อะไรบ้างที่ไม่ต้องมีเครื่องหมาย อย.

โดยสินค้าหรือผลิตภัณฑ์บางอย่างไม่ต้องมีเครื่องหมายอย. ตามที่กฎหมายระบุไว้ แต่ทว่าต้องมีเลขทะเบียนที่จดแจ้ง หรือเลขที่ใบรับแจ้งเพื่อแสดงถึงมาตรฐานและความปลอดภัย โดยผลิตภัณฑ์ที่ไม่ต้องมีเครื่องหมายอย. ได้แก่

1. ยา ไม่มีเครื่องหมายอย. บนฉลาก แต่ต้องมีเลขทะเบียนตำรับยา เช่น 1A 25/67 หมายความว่า ยาแผนปัจจุบันใช้กับมนุษย์ ที่ผลิตภายในประเทศไทย มีตัวยาออกฤทธิ์เพียง 1 ตัว และลำดับทะเบียนที่ 25 โดยได้รับการขึ้นทะเบียนในปี พ.ศ. 2567 โดยตัวอย่างและความหมายของเลขทะเบียนตำรับยา 

เลขอย สำหรับยา

Reg no. หมายถึง เลขทะเบียนหรือ Registered Number

เลขลำดับที่ 1 หมายถึงเลขลำดับที่แทนตัวยาที่ออกฤทธิ์ (ใช้ตัวเลข 1-2) ความหมายคือ เลข 1 มีตัวยาสำคัญที่ออกฤทธิ์เพียง 1 ตัว หรือ เลข 2 มีตัวยาสำคัญที่ออกฤทธิ์สองตัวขึ้นไป

เลขลำดับที่ 2 หมายถึงเลขแทนประเภทของยา (ใช้ตัวอักษร A-N)

  • A แทนยาแผนปัจจุบันที่ใช้กับมนุษย์ซึ่งผลิตภายในประเทศ
  • N แทนยาแผนโบราณที่ใช้กับสัตว์ซึ่งนำเข้าจากต่างประเทศ

เลขลำดับที่ 3-4 หมายถึงเลขลำดับที่แทนการขึ้นทะเบียนตำรับยา

เลขลำดับที่ 5-6 หมายถึงปี พ.ศ. ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสองหลักสุดท้ายเช่น 67 แทนปี พ.ศ.2567

2. เครื่องสำอาง นั้นไม่ต้องมีเครื่องหมายอย. บนฉลาก แต่ต้องมีการแสดงเลขใบรับแจ้งที่ประกอบไปด้วยเลข 10 หลัก ดังตัวอย่าง

เลข อย เครื่องสำอาง

เลขลำดับที่ 1-2 หมายถึงเลขจังหวัดหรือที่ตั้งของสถานที่รับแจ้งจดทะเบียน

เลขลำดับที่ 3 หมายถึงสถานะสินค้า ใช้เลข 1-2 แทนสถานะ โดยเลข 1 หมายถึงสินค้าที่ผลิต และเลข 2 หมายถึงสินค้านำเข้า

เลขลำดับที่ 4-5 หมายถึงเลขท้ายของปี พ.ศ. ที่อนุญาต เช่นตัวเลข 67 แทนปี พ.ศ. 2567

เลขลำดับที่ 6-10 หมายถึงเลขลำดับของผลิตภัณฑ์ที่จดทะเบียนแล้วผ่านการอนุญาต

3. เครื่องมือแพทย์ที่ต้องแจ้งรายละเอียดไม่มีเครื่องหมายอย. แต่ต้องมีเลขใบรับแจ้ง เช่นเดียวกันกับของเครื่องสำอาง โดยเครื่องมือแพทย์ได้แก่ เครื่องตรวจระดับแอลกอฮอล์ในร่างกาย เต้านมเทียมซิลิโคน เครื่องที่ใช้เพื่อกายภาพบำบัด

4. วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนบางประเภทไม่ต้องมีเครื่องหมายอย. เช่น วัตถุที่มีสารต่าง ๆ ที่อย. กำหนด ผลิตภัณฑ์ซักผ้า เครื่องสุขภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ล้างจาน เป็นต้น

เครื่องหมาย อย. มีประโยชน์อย่างไร

เครื่องหมายอย. นั้นเมื่อทำการขึ้นทะเบียนแล้วจะเป็นการประกันคุณภาพของสินค้า ที่ตรงตามมาตรฐาน และถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจและปลอดภัยเมื่อใช้สินค้านั้น ซึ่งประโยชน์ของเครื่องหมายอย. มีดังนี้

  • ช่วยสร้างความมั่นใจ และความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค
  • รับรองผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานและปลอดภัย
  • ช่วยให้สามารถตรวจสอบชื่อบริษัทที่ทำการผลิตและจดแจ้ง รวมถึงแหล่งที่มาของสถานที่ที่ผลิต
  • ช่วยส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้ทำการตรวจสอบ และรู้เท่าทันภัยจากสินค้า เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง
  • สามารถรับสิทธิคุ้มครองจากอย. ได้ หากได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์ที่มีอย.
  • ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ประกอบการ เพราะเครื่องหมายอย. จะทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในผลิตภัณฑ์

ทำไมต้องจด อย.

การขึ้นทะเบียนสินค้าหรือผลิตภัณฑ์กับอย. หรือ การจดแจ้งอย. มีความสำคัญและจำเป็นในการจำหน่ายสินค้าไม่ว่าจะเป็นสินค้าประเภทอาหาร ยา เครื่องดื่ม เครื่องมือทางการแพทย์ รวมถึงสำคัญอย่างมากกับสินค้าประเภทเครื่องสำอางและครีม เพราะเป็นสิ่งที่ใช้กับร่างกายของเราโดยตรง การจดแจ้งอย. จึงช่วยในการสามารถสร้างความน่าเชื่อถือจากการรับรองด้านคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์

วิธีการตรวจเช็กเลข อย. ว่าอันไหนจริงอันไหนปลอม

หากต้องการตรวจเช็กว่าเลขของอย. นั้นจริงหรือปลอม หรือตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์ที่ซื้อนั้นมีเครื่องหมายอย. หรือเลขที่จดแจ้งหรือไม่ ข้อมูลตรงกับที่ผู้ประกอบการแจ้งไว้หรือไม่ สามารถตรวจเช็กได้ดังขั้นตอนต่อไปนี้

1. เข้าเว็บไซต์ของคณะกรรมการอาหารและยา โดยไปที่ ตรวจสอบการอนุญาต สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข แนบลิงก์ได้

วิธีเช็คเลข อย

2. ทำการกรอกเลขในเครื่องหมายอย. เลขทะเบียนตำรับยา เลขที่ใบจดแจ้ง (โดยใส่ขีดหรือไม่ใส่ขีดก็ได้) หรือสามารถใส่ชื่อของผลิตภัณฑ์ที่อยากตรวจสอบ หลังจากนั้นกดค้นหา

วิธีตรวจสอบและเช็คเลข อย

3. เว็บไซต์จะแสดงผลการค้นหา หากผลิตภัณฑ์นั้นได้รับอนุญาตจากอย. อย่างถูกต้อง โดยจะแสดง ประเภทผลิตภัณฑ์ ใบสำคัญหรือเลขอย. ชื่อผลิตภัณฑ์ไทย และอังกฤษ ชื่อผู้รับอนุญาต เลข Newcode หรือเลขอ้างอิงใบรับแจ้งการนำเข้าผลิตภัณฑ์ และสถานะของผลิตภัณฑ์

วิธีเช็ค อย จริง ปลอม

หากทำการค้นหาแล้วไม่ปรากฏเลขอย. อาจหมายถึงผลิตภัณฑ์นั้นไม่มีการขึ้นทะเบียน หรือเป็นเลขอย.ปลอม และหากมีการค้นหาเลขอย. ทำการตรวจสอบข้อมูลว่าตรงกับผลิตภัณฑ์ที่เราค้นหาหรือไม่ หากไม่ต้องกันอาจจะหมายถึงว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีการสวมเลขอย. ปลอม

สรุป

อย. คืออักษรย่อของ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration) ที่ทำหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภค ตรวจสอบ ดูแลผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลต่อร่างกายและสุขภาพ ถึงแม้เครื่องหมายอย. จะเป็นเพียงเครื่องหมายเล็ก ๆ แต่เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะอาจส่งผลอันตรายต่อตัวเราได้ การมีเครื่องหมายอย. นั้นสามารถการันตีความปลอดภัยได้ แต่ก็อย่าเพิ่งด่วนสรุป เพราะอาจจะมีการปลอมแปลงเลขอย. ได้ โดยเราสามารถนำเลข 13 หลักหรือชื่อผลิตภัณฑ์ไปตรวจสอบเพื่อให้เกิดความแน่ใจได้