มาตรฐาน gmp คำที่เราคุ้นหูคุ้นตากันอย่างมากในวงการของโรงงานการผลิต โดยเฉพาะการผลิตเครื่องสำอาง อาหาร รวมถึงยาต่าง ๆ แต่คุณรู้หรือไม่ว่า GMP คืออะไร แบ่งเป็นกี่ประเภท ประโยชน์ของ GMP คืออะไร ทำไมทุกโรงงานต้องมี บทความนี้เรามาหาคำตอบไปด้วยกัน
มาตรฐาน GMP คืออะไร?

GMP ย่อมาจาก Good Manufacturing Practice คือ หลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต หรือเครื่องหมายในการรับรองมาตรฐานคุณภาพการผลิต ควบคุมกระบวนการการผลิตให้มีสุขลักษณะที่ดี ทั้งวิธีการผลิต เครื่องมือที่ใช้ในการผลิต บุคลากร รวมถึงวิธีการเก็บรักษา ทำให้สามารถผลิตเครื่องสำอาง อาหาร หรือยาได้อย่างมีมาตรฐาน ปลอดภัย ให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าสินค้าที่ออกจากโรงงานผลิตนั้นปลอดภัย
GMP จึงเป็นข้อกำหนดขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อโรงงานการผลิต โดยกำหนดขึ้นเพื่อให้โรงงานหรือผู้ประกอบการปฏิบัติตาม เพื่อที่สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค
มาตรฐาน GMP มีกี่ประเภท อะไรบ้าง?

โดยหลัก ๆ ในปัจจุบันมาตรฐาน GMP แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
- GMP แบบทั่วไป (General GMP) เป็นมาตรฐานแบบทั่วไป เป็นหลักเกณฑ์ที่นำไปใช้ปฏิบัติกับผลิตภัณฑ์ทั่วไป
- GMP เฉพาะผลิตภัณฑ์ (Specific GMP) เป็นมาตรฐานเฉพาะที่เพิ่มเติมจาก GMP แบบทั่วไป โดยจะเป็นหลักเกณฑ์การปฏิบัติที่มุ่งเน้นเรื่องการขจัดความเสี่ยงและความปลอดภัยของแต่ละผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น ยา น้ำดื่ม หรือ เครื่องสำอาง
ข้อกำหนดของมาตรฐาน GMP มีครอบคลุมถึงเรื่องอะไรบ้าง?

หลักการของ GMP มีเกณฑ์เบื้องต้นที่ครอบคลุมดังนี้
GMP ครอบคลุมตั้งแต่สถานประกอบการ โครงสร้างอาคาร
โดยที่ทุกอย่างต้องสะอาด ไม่มีการหมักหมมของสิ่งปฏิกูล ที่ก่อให้เกิดเชื้อโรคหรือแมลง ต้องอยู่ห่างจากบริเวณที่มีฝุ่นมากเกินไป โดยรอบโรงงานต้องมีท่อระบายน้ำเพื่อไม่ให้เกิดน้ำขัง ขนาดของโรงงานต้องเหมาะสม สะดวกต่อการทำงาน การทำความสะอาด มีมาตรการป้องกันสัตว์และแมลงไม่ให้เข้าไปในโรงงาน รวมถึงมีแสงสว่างเพียงพอและต้องมีระบบระบายอากาศที่เหมาะสม
เครื่องมือหรือเครื่องจักร รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการผลิต
ต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์ที่คำนึงถึงการทำความสะอาดที่ง่ายและทั่วถึง อุปกรณ์ที่สัมผัสกับสินค้าโดยตรง โดยเฉพาะอาหาร ต้องทำจากวัสดุที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค จำนวนอุปกรณ์ที่ใช้ต้องเพียงพอต่อการทำงาน และโต๊ะที่ใช้ในการผลิตต้องไม่เกิดสนิม และทำความสะอาดง่าย
ควบคุมกระบวนการผลิต
ตั้งแต่การวางแผนการผลิต ระบบควบคุมวัตถุดิบระหว่างการผลิต การบรรจุ การจัดเก็บ รวมถึงคุณภาพของการขนส่งจนถึงมือผู้บริโภค โดยที่วัตถุดิบหรือส่วนประกอบที่ใช้ในการผลิตต้องสะอาดและมีคุณภาพ รวมถึงการเก็บรักษาวัตถุดิบ การล้างทำความสะอาด การหมุนเวียน Stock ต้องมีความสะอาดและคุณภาพเช่นกัน น้ำ น้ำแข็งที่สัมผัสกับอาหารต้องได้มาตรฐานตามกระทรวงสาธารณสุข ภาชนะที่สัมผัสกับอาหารต้องอยู่ในสภาพที่ไม่มีสิ่งปนเปื้อน ได้มาตรฐาน การผลิต การเก็บรักษา ตลอดจนการขนย้าย และการขนส่ง ต้องปราศจากการปนเปื้อน ต้องมีการจดบันทึกผลการตรวจสอบและวิเคราะห์ตัวสินค้า รวมถึงบันทึกปริมาณการผลิต ประเภทของสินค้า รวมถึงวันเดือนปีที่ผลิต โดยบันทึกไว้อย่างน้อย 2 ปี
ระบบการสุขาภิบาลของโรงงาน
ต้องมีห้องน้ำและอ่างล้างมือที่แยกจากโซนการผลิต และต้องเพียงพอและถูกสุขลักษณะ น้ำที่ใช้ในโรงงานต้องมีความสะอาด มีอ่างให้ล้างมือในโซนการผลิต พร้อมอุปกรณ์ล้างมืออย่างครบครัน มีทางระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพไม่ก่อนให้เกิดน้ำขังหรือการปนเปื้อน มีถังขยะที่ใส่ขยะมูลฝอย มีฝาปิดมิดชิดพร้อมกับระบบการทำลายขยะมูลฝอย และมีมาตรการป้องกันรวมถึงกำจัดสัตว์และแมลงในโซนการผลิต
การบํารุงรักษาและการทําความสะอาด
อุปกรณ์ทั้งหมดที่ใช้ในการผลิตต้องถูกทำความสะอาดทั้งก่อนและหลังการผลิต อาคารโรงงานต้องดูแลรักษาความสะอาดอยู่เสมอให้อยู่ในสภาพที่ถูกสุขลักษณะตลอดเวลา ต้องมีการตรวจเช็คและคอยบำรุงรักษาอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงหากโรงงานต้องใช้สารเคมีในการทำความสะอาด ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ปลอดภัยเท่านั้น
บุคลากรและผู้ปฏิบัติงานในการผลิต
บุคลากรและผู้ปฏิบัติงานต้องไม่เป็นโรคติดต่อหรือมีบาดแผลที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ ต้องสวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาดและเหมาะสมต่อการทำงาน ต้องใส่ถุงมือทุกครั้งและถุงมือที่ใช้ต้องอยู่ในสภาพที่สะอาดและสมบูรณ์ ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งทั้งก่อนและหลังการทำงาน และต้องดูแลมือและเล็บให้สะอาดอยู่เสมอ ต้องสวมหมวกตาข่าย หรือผ้าคลุมผมขณะทำงาน อีกทั้งยังต้องห้ามสวมเครื่องประดับขณะปฏิบัติงาน
ความสำคัญของมาตรฐาน GMP

มาตรฐาน GMP ถือเป็นหลักเกณฑ์มาตรฐานสากลระดับโลกอันหนึ่งที่กลุ่มนักวิชาการรวมถึงผู้บริโภคให้การยอมรับและเชื่อถือ เพราะเป็นมาตรฐานที่ได้รับรองจากทั่วโลก สามารถประกันคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ว่าจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค ดังนั้นจึงมีความสำคัญต่อผู้ประกอบการ หากมีการปฏิบัติตามมาตรฐานของ GMP ได้ทุกประการ จะทำให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและความปลอดภัย ตรงตามมาตรฐานสากล และมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคอีกด้วย
ประโยชน์ของ GMP มีอะไรบ้าง?

มาตรฐาน GMP นอกจากจะช่วยทำให้สินค้าและบริการมีคุณภาพตรงตามความต้องการของผู้ใช้ได้แล้วนั้น ยังมีประโยชน์อื่น ๆ ที่ช่วยทำให้ธุรกิจและองค์กรนั้นมีคุณภาพที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย โดยประโยชน์ของมาตรฐาน GMP มีดังนี้
- ผู้บริโภคได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและความปลอดภัย
- ช่วยลดข้อผิดพลาดในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน
- เป็นแนวทางในการผลิต เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพและความปลอดภัยตรงตามมาตรฐานในทุก ๆ การผลิต
- ช่วยสร้างระบบมาตรฐานให้แก่โรงงาน และง่ายต่อการติดตามข้อมูล
- ช่วยสร้างความปลอดภัยและความสะดวกสบายต่อผู้ปฏิบัติงานในขณะปฏิบัติงาน
- ช่วยสร้างทัศนคติที่ดีและถูกต้องแก่ผู้ปฏิบัติงาน
- ป้องกันการเกิดข้อผิดพลาดในการผลิตหรือการควบคุมคุณภาพ รวมทั้งปัญหาในระยะยาวที่อาจเกิดซ้ำซ้อน
- ช่วยควบคุมและรักษามาตรฐานความสะอาด และสุขลักษณะที่ดีของโรงงาน
- ช่วยเพิ่มคุณภาพตลอดการผลิตในระยะยาว มีคุณภาพความสม่ำเสมอในทุก ๆ การผลิต และช่วยลดต้นทุนการผลิต
การบังคับใช้มาตรฐาน GMP ในประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง?
การบังคับใช้มาตรฐาน GMP ในประเทศไทยนั้นมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรืออย. ของไทย ที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 193 พ.ศ. 2543 ในเรื่องของการผลิต เครื่องมือ เครื่องใช้ในการผลิต ตลอดจนการเก็บรักษา โดยผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหาร เครื่องสำอาง เครื่องดื่ม รวมถึงยา อาหารเสริม ต้องศึกษาข้อกำหนดเพื่อการผลิตที่ได้มาตรฐาน นำมาซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและความปลอดภัยต่อผู้บริโภค
สรุป
สำหรับผู้ที่ต้องการสร้างแบรนด์เป็นของตัวเองและกำลังมองหาโรงงานที่มีมาตรฐาน อย่างมาตรฐาน GMP ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาเป็นอันดับแรกเพราะ GMP เป็นมาตรฐานระดับสากลที่ทั่วโลกยอมรับ โดยควรพิจารณาตั้งแต่สถานประกอบการ ที่ตั้งโรงงาน การวางแผนการผลิต บุคลากรผู้ปฏิบัติงาน เป็นต้น เพื่อที่จะสามารถควบคุมกระบวนการผลิตและประกันคุณภาพผลิตภัณฑ์ของเราได้ เพราะฉะนั้นโรงงานจึงควรมีการดำเนินการที่สอดคล้องกับมาตรฐาน GMP เพื่อเป็นเครื่องการันตีว่าสินค้าของเรานั้นมีคุณภาพและความปลอดภัย
ข้อมูลอ้างอิง